Welcome to the blog of MISS WANWIPA PONGAM doctorate in early childhood education course on Science Experiences Management for Early Childhood .

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

บทความน่ารู้ : หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย จำเป็นหรือไม่?

วันที่ 4 กันยายน 2557
  
เวลา 13:10-16:40

........................



               หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย เป็นการส่งเสริมครูปฐมวัยให้สามารถจัดประสบการณ์ในรูปของกิจกรรมบูรณาการที่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้อย่างครบถ้วนทุกด้าน โดยไม่จำเป็นต้อง แยกออกมาสอนเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ครูปฐมวัยควรจะตระหนักรู้ว่ากิจกรรมที่จัดให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลานั้น เป็นการส่งเสริมทักษะและแนวคิดทางวิทยาศาสตร์อะไรให้กับเด็กๆ และควรจะจัดกิจกรรมอย่างไรเพื่อจะสามารถตอบสนองและต่อยอดธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างเป็นระบบ
               อาจารย์ชุติมา เตมียสถิต หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)หนึ่งในทีมงานที่ริเริ่มโครงการนี้  กล่าวถึงที่มาของการจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย  ว่าจากการเยี่ยมชมโรงเรียนปฐมวัยทุกสังกัดทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ.2548 – 2549 พบว่าครูปฐมวัยได้สอนวิทยาศาสตร์ในเชิงเนื้อหามากมาย โดยผ่านการบอกเล่ามากกว่าที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็นและมีความกระตือรือร้นที่จะสำรวจตรวจสอบหาคำตอบ เนื้อหาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ครูสอนถูกแนวคิด (concept) บ้างไม่ถูกบ้างและจากการสัมภาษณ์ครูถึงแนวทางการสอนวิทยาศาสตร์ของครู พบว่าครูได้ใช้หลักสูตรปฐมวัย พ.ศ 2546 ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นแนวทาง ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ในสาระที่ควรรู้ 4 สาระ ปัญหาที่ครูต้องคิดต่อจากหลักสูตรนี้คือ ครูจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ในว่าแต่ละสาระ ครูจะสอนอะไร สอนแค่ไหน สอนอย่างไร และมีสื่อการเรียนรู้อะไรบ้างที่ควรนำมาใช้
              สสวท.จึงได้รวบรวมข้อคิดเห็นเหล่านี้ และได้ตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศเช่น หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา หม่อมหลวงอนงค์ นิลอุบล อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นนักการศึกษาด้านปฐมวัย แพทย์ นักจิตวิทยา และนักวิชาการในสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท.มาร่วมวิเคราะห์หลักสูตรปฐมวัยปี พ.ศ.2546 หลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัยของต่างประเทศและวิเคราะห์มาตรฐานหลักสูตรสาระวิทยาศาสตร์ประถมศึกษาจากนั้นได้ร่วมกันจัดทำกรอบมาตรฐานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัยเพื่อเป็นแนวทางให้ครูในการจัดการเรียนรู้บูรณาการวิทยาศาสตร์ปฐมวัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 
             เมื่อเสร็จแล้วได้นำกรอบมาตรฐานนี้ไปทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ โดยเชิญผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาปฐมวัยทุกภาคส่วน ร่วมประชุมพิจารณ์หลักสูตรกรอบมาตรฐานหลักสูตรวิทยาศาสตร์ปฐมวัย ในปี พ.ศ. 2551 “การเรียนวิทยาศาสตร์ในชั้นปฐมวัยนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหา  แต่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้เรื่องกระบวนการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วยการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว การตั้งคำถาม การหาวิธีที่จะตอบคำถาม โดยใช้ทักษะการสังเกตตามวัยของเด็ก  เมื่อเด็กได้พัฒนาทักษะในการสืบเสาะหาความรู้อย่างง่าย ๆ ตามวัยของเขา ก็จะทำให้เขามีเครื่องมือสำคัญที่จะแก้ปัญหาในอนาคตของตัวเองได้ เพราะเด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล และได้พัฒนาทักษะในการสังเกต เก็บรวบรวมข้อมูล สามารถที่จะเรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัวได้ ถือว่าเป็นพื้นฐานสำหรับชีวิตของเด็ก ๆ ในการเรียนรู้ต่อไป”

ที่มา : นิตยสาร สสวท.
www.ipst.ac.th
http://prthai.com/articledetail.asp?kid=5244

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น